Free CursorsMyspace LayoutsMyspace Comments
ถิ่นกำเนิดหลวงพ่อโต แดนตะโกดัดงาม เย็นสายน้ำนามป่าสัก วิวสวยนักเขื่อนพระรามหก ห้องสมุดประชาชน"เฉลิมราชกุมารี"อำเภอท่าเรือ ให้บริการวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.30-16.30น. วันอาทิตย์ เวลา 09.00-17.00น. หยุดวันนักขัตฤกษ์

ประวัติอำเภอท่าเรือ

อำเภอท่าเรือ (นครน้อย)

          อำเภอท่าเรือ เป็นอำเภอหนึ่งใน 16 อำเภอ ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ 120.62 ตารางกิโลเมตร ( 75,389 ไร่ ) อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 7 เมตร มีแม่น้ำป่าสักไหลผ่าน และมีคลองชลประทานสำคัญคือคลองระพีพัฒน์ ซึ่งเป็นคลองระบายน้ำที่ส่งไปยังพื้นที่การเกษตรในหลายจังหวัด รวม 6.8 แสนไร่เศษ เป็นทั้งศูนย์กลางการคมนาคมการขาย เป็นแหล่งรวมผลิตผลทางการเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่วเขียว เผือก ไม้ดัด ฯลฯ ส่วนในภาคอุตสาหกรรม เป็นแหล่งผลิตปูนซิเมนต์ อาหารสัตว์ น้ำมันพืช หัวเชื้อเครื่องดื่มบำรุงกำลัง แอลกอฮอล์ เสื้อผ้าสำเร็จรูปและไซโลพืชไร่ตั้งอยู่มากมาย มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับ อ.บ้านหมอ อ.ดอนพุด จ.สระบุรี

ทิศใต้ ติดต่อกับ อ.ภาชี อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา

ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อ.เสาไห้ อ.หนองแซง จ.สระบุรี

ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา

          อำเภอท่าเรือ มีความเกี่ยวพันกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากพอสมควร ตามพระราชพงศาวดาร สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี กล่าวถึงรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม กษัตริย์องค์ที่ 21 ( ราชวงศ์สุโขทัย ) ปกครองกรุงศรีอยุธยา ระหว่าง พ.ศ. 2153-2171 พระองค์เป็นราชโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งมีพี่น้องทั้งหมด 5 พระองค์ คือ เจ้าฟ้าสุทัศน์, เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ ( ที่เกิดจากพระมเหสี ) และที่เกิดจากพระสนมอีก 3 องค์ คือ พระอินทราชา, พระศรีสินและพระองค์ทอง เมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงเสด็จสู่สวรรคตในปี พ.ศ. 2153 เจ้าฟ้าสุทัศน์ ซึ่งเป็นราชโอรสองค์โต ได้สิ้นพระชนม์ชีพก่อนได้ขึ้นครองราชย์ เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ได้ขึ้นครองราชย์แทน ต่อมาก็ถูกพระอินทราชาทำการยึดอำนาจและปลงพระชนม์ พระอินทราชาก็ได้เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติและเสด็จสวรรคตเมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2171 มีพระชนมายุเพียง 38 พรรษา มีพระราชโอรส 2 พระองค์ คือ พระเชษฐาธิราชและพระอาทิตย์วงศ์

          ในระหว่างครองราชย์สมบัติ ผู้ว่าราชการเมืองสระบุรีได้มากราบทูลรายงานสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ให้ทราบว่า “ พรานบุญ ” ซึ่งเป็นพรานป่าออกล่าเนื้อกวางและได้พบรอยเท้าขนาดใหญ่มีน้ำขังอยู่บนเขา “ สัจจพันคีรี ” หรือ “ สุวรรณบรรพต” ด้วยความเมื่อยล้าอ่อนเพลียจึงได้วักน้ำที่ขังอยู่มาล้างหน้าและตัวเพื่อให้คลายความเมื่อยล้าและอ่อนเพลีย ก็ปรากฏอัศจรรย์แผลและโรคผิวหนังตามตัวที่เป็นอยู่นั้นได้หายไปสิ้น น่าที่จะเป็นรอยประทับพระพุทธบาทขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า กอร์ปกับพระสงฆ์ไทยที่ไปศึกษาพุทธศาสนา ณ ประเทศศรีลังกา ได้ทราบจากฝ่ายลังกาขณะไปนมัสการรอยพระพุทธบาท ที่เขาสุมนกูฎ ณ ประเทศลังกาว่าในประเทศไทย ก็มีรอยพระพุทธบาทอยู่ที่เขาสัจจพันคีรี ซึ่งพระพุทธองค์ ทรงกดรอยพระบาทไว้ คราวเสด็จมาโปรด “ สัจจพันคีรีดาบส ” ฤาษีผู้หนึ่งที่ภูเขาแห่งนี้ พระสงฆ์ไทยได้เคยมากราบทูลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ทรงทราบพระองค์โปรดฯให้เจ้าเมืองต่าง ๆ ออกค้นหารอยพระพุทธบาท เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทราบความจากทางผู้ว่าราชการเมืองสระบุรี ก็ได้เสด็จมาทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง เห็นรอยดังกล่าวมีลายลักษณะเป็นรูปกงจักร ประกอบด้วยอัฎฐตรสตมหามงคล 108 ประการตามพระบาลีที่กรุงลังกายืนยันมา และใกล้เคียงกับรอยพระพุทธบาท ตรงตามพุทธทำนายทุกประการ จึงทรงโปรดฯ ให้สร้างมณฑปน้อย ขึ้นสวมรอยพระพุทธบาทดังกล่าว ภายหลังจึงได้สร้างมณฑปใหญ่ครอบไว้อีกชั้นหนึ่งและทรงโปรดฯให้สร้างพุทธสถานรอบ ๆ วัด พระราชทานให้เป็นอารามหลวงชั้นเอก นับตั้งแต่นั้นมาจึงเป็นพระราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ต้องเสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาท นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

          สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปนมัสการรอยพระพุทธบาทตามลำน้ำป่าสัก ขบวนเรือต้องเสด็จผ่านอำเภอคลองหลวง สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จึงโปรดให้สร้างพระตำหนักเพื่อใช้ประทับพักผ่อนระหว่างทางที่เสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาท จ.สระบุรี ต่อมาในสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ไปได้เขมรเมืองขึ้นอีกครั้ง จึงโปรดฯให้สร้างปราสาทนครหลวงโดยสร้างเลียนแบบจากปราสาทหินนครธมของเขมร แต่ก่ออิฐแทนที่พระตำหนักเดิม เมื่อถึงอำเภอนครน้อย ( ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “ อำเภอท่าเรือ ” ในปี 2459 ) ทรงจอดเรือพระที่นั่งที่นั่น ทรงโปรดฯ ให้สร้าง “ พระตำหนักท่าเจ้าสนุก ” ขึ้นมาเพื่อให้ข้าราชบริพารได้ใช้เป็นที่พักผ่อนระหว่างเสด็จพระราชดำเนิน จึงเรียกว่าอำเภอ “ นครน้อย ” ซึ่งขบวนเสด็จ ฯ จะมาถึงบริเวณนั้นก็เวลาเย็น ด้วยความเมื่อยล้าอ่อนเพลีย บรรดาเหล่านางสนมกำนัลและข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ ต่างก็ลงเล่นน้ำกันเป็นที่สนุกสนาน ต่อมาในภายหลังบริเวณนั้นจึงได้ชื่อว่า “ ตำบลท่าเจ้าสนุก ” ซึ่งปัจจุบันตัวพระตำหนักดังกล่าวไม่เหลือสภาพเดิมให้เห็นรูปร่างลักษณะ คงมีแต่ซากวัสดุเหลือพอสันนิษฐานได้ว่าเป็นพระตำหนักเก่าแก่ก่ออิฐถือปูน เช่น อิฐแผ่น ( สันนิษฐานว่าใช่ในการก่อผนังและกำแพงพระตำหนัก ) มีขนาดกว้าง 17-19 ซม. ยาว 33-37 ซม. หนา 7-8 ซม. อิฐ 8 รู ใช้สำหรับก่อเป็นช่องระบายอากาศ ขนาดกว้าง 16-17 ซม. ยาว 33 ซม. หนา 12 ซม. อีกทั้งมีกระเบื้องดิน สำหรับมุงหลังคาพระตำหนัก ขนาดกว้าง 14 ซม. ยาว 23 ซม. กองและจมดินอยู่ในระหว่างหมู่บ้าน ตั้งแต่สวนรวยริน ของคุณสำรวย กองวารี ตั้งอยู่ข้างพระตำหนักพระเจ้าทรงธรรม ตลอดถึงแนวหมู่บ้านข้างบ้านของนายจำรัส ฤทธินาค ในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่จะจมอยู่ใต้พื้นดินเนื่องจากน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี ดินโคลนจากกระแสน้ำจะทับถมจนทำให้ซากวัสดุเหล่านี้จมอยู่ใต้พื้นดินเสียเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีบ่อน้ำดื่มน้ำใช้ เป็นหลักฐานที่สำคัญ 1 บ่อ ที่สร้างขึ้นในสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ไว้ให้ข้าราชบริพารได้ใช้ตักดื่มกิน สร้างด้วยอิฐฉาบปูน มีขนาดกว้าง 2 เมตรยาว 6 เมตรลึกกว่า 50 เมตร ที่ผนังภายในบ่อด้านตะวันออก มีซุ้มประตูเป็นลักษณะทางเข้าออกภายในบ่อ หากแสงสว่างพอก็จะสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นบ่อลึกมากขุดต่อมาจากใต้แม่น้ำป่าสัก เวลาน้ำขึ้น น้ำก็ขึ้นตามจนเกือบเต็มบ่อข้าราชบริพารก็สะดวกในการตักใช้ดื่มกินไม่ต้องเดินไปตักที่ริมฝั่ง เวลาน้ำลงก็เดินลงไปตักที่ประตูภายในบ่อ ปัจจุบันบ่อดังกล่าวยังคงสภาพใกล้เคียงกับของเดิม แต่ก็ตื้นเขินไปเยอะ ตั้งอยู่ในที่ของนางทองอินทร์ กฤษณ์แก้ว บ้านเลขที่ 30 หมู่ 1 ต.ท่าเจ้าสนุก ซึ่งในบริเวณที่ดินของ นางทองอินทร์ มีซากอิฐแผ่นอิฐ 8 รู และกระเบื้องดินอยู่เป็นจำนวนมาก หลังจากพักแรมที่พระตำหนักท่าเจ้าสนุก เป็นเวลา 1 คืน ในวันรุ่งขึ้นพระเจ้าทรงธรรม พร้อมด้วยข้าราชบริพารได้เสด็จขึ้นฝั่งที่ท่าเกยท้องที่อำเภอท่าเรือ อยู่ฝั่งตรงข้ามปัจจุบันคือบริเวณวัดไม้รวก เพื่อทรงช้างพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่ท่าเกย สมัยก่อนราว 40 ปีที่ผ่านมา มีร่องรอยซากเสาเกยสำหรับขึ้นหลังช้างให้เห็นอยู่ 2 จุด อยู่ใกล้ ๆ กันเป็นเสาไม้ทรงกลมขนาดใหญ่เรียกว่า “ เสาตุ๊กตา ” แต่ในปัจจุบันไม่เหลือสภาพให้เห็นแล้วเนื่องจาก บริเวณนั้นเป็นโค้งของลำน้ำป่าสัก เสาเกยได้ถูกกระแสน้ำน้ำพัดหายไปจนหมดสิ้นไม่เหลือให้อนุชนรุ่นหลังได้เห็น

          จากหลักฐานวรรณคดี เมื่อครั้งสุนทรภู่ เป็นพระราชวังหลัง ได้ตามเสด็จไปเวียนเทียนเนื่องในวันมาฆบูชา วัดพระพุทธบาท จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2350 ตรงกับวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 3 สุนทรภู่ ได้แต่ง “ นิราศพระบาท ” ในส่วนที่กล่าวถึงอำเภอท่าเรือ ก็คือกระบวนเรือพระที่นั่งออกจากท่าวัดระฆังโฆสิตาราม ตอนเช้ามืด พายทวนกระแสน้ำขึ้นมาจอดประทับแรมตรงหน้าวัดแม่นางปลื้ม แขวงกรุงเก่า 1 คืน รุ่งเช้ากระบวนเรือเสด็จผ่านอำเภอนครหลวง หยุดเสวยพักเที่ยงที่ “ พระตำหนักนครหลวง ” หลังจากนั้นเดินทางต่อจนถึงอำเภอท่าเรือ ในตอนเย็นกระบวนเรือเสด็จหยุดพักแรมที่ “ พระตำหนักท่าเจ้าสนุก ” เป็นเวลา 1 คืน รวมเวลาที่เสด็จถึงอำเภอท่าเรือ 2 วันเต็ม

          เช้าตรู่วันรุ่งขึ้นหลังจากที่พระองค์เจ้าปฐมวงศ์ ทรงเสวยอาหารเช้าแล้วก็เสด็จทางสถลมารค ( ทางบก ) ด้วยกระบวนช้าง โดยข้ามฝั่งไปขึ้นช้างที่ท่าเกยลัดเลาะไปตามถนน พระเจ้าทรงธรรมหรือที่เรียกว่า “ ถนนฝรั่งส่องกล้อง ” ที่เรียกว่าถนนฝรั่งส่องกล้อง เป็นถนนตามพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ที่สร้างขึ้นเพื่อให้ราษฎรเดินทางไปนมัสการรอยพระพุทธบาทได้สะดวก ทรงโปรดเกล้าฯให้ฝรั่งชาวฮอลันดา เป็นผู้สำรวจเส้นทางก่อนการก่อสร้างตามหลักวิชาการนั้นต้องส่องกล้องสำรวจ คนไทยในสมัยนั้นมองเห็นว่าเป็นคนแปลกจึงขนานนามว่า “ ถนนฝรั่งส่องกล้อง ” พระองค์ท่าน ได้เสด็จถึงวัดพระพุทธบาทเวลาบ่ายโมง ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ ( วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2350 ) และประทับแรมที่วัดพระพุทธบาทนั้นเอง รวมเวลาเดินทาง 3 วัน รุ่งขึ้นเป็นวันมาฆบูชา เพ็ญเดือน 3 เป็นทั้งงานบุญและงานสนุกสนาน มีการเวียนเทียนรอบรอยพระพุทธบาทมีการจุดพลุดอกไม้ไฟมีการแสดงและการเล่นต่าง ๆ มากมาย ในส่วนที่สุนทรภู่ได้พรรณนาในเนื้อเรื่องนิราศพระบาท ส่วนที่เกี่ยวข้องกับหมู่บ้านต่าง ๆ ที่เป็นสถานที่สำคัญของอำเภอท่าเรือ ดังนี้คือ

.....ถึงอรัญญิกยามแดดแผดพยับ เสโทซับซาบโทมนัสา

ถึงตะเคียนด้วนด่วนรีบนาวามา ถึงศาลาลอยแลลิงโลดใจ

เงื้อมตลิ่งงิ้วงามตระหง่านยอด ระกะกอดเกะกะกิ่งไส

พยุยวบกิ่งเยือกเขยื้อนใบ ถึงวังตะไลเห็นบ้านละลานตา

ถึงบ้านขวางที่ทางนาวาจอด เรือตลอดแลหลามตามกระแส

ถึงท่าเรือเรือยัดอัดกันแอ ดูจอแจจอดริมตลิ่งชุม

ที่หน้าท่ารารับประทับหยุด อุตลุดขนของขึ้นกองสุม

เสบียงใครใครนั่งระวังชุม พร้อมชุมนุมแน่นหน้าศาลารีฯ

การปกครองของอำเภอท่าเรือ แบ่งการปกครอง เป็น

การปกครองส่วนภูมิภาค 10 ตำบล

องค์การบริหารส่วนตำบล 9 แห่ง

การปกครองส่วนท้องถิ่นมีเทศบาล 2 แห่ง

การคมนาคม

1. ทางน้ำ มีแม่น้ำป่าสักไหลผ่าน เป็นเส้นทางการคมนาคมในการขนส่งสินค้าหลายชนิด เช่น หิน ปูนซิเมนต์ สินค้าพืชไร่ต่าง ๆ

2. ทางบก ทางรถยนต์สามารถเชื่อมต่อกับอำเภอและจังหวัดอื่นได้หลายเส้นทาง เช่น ทางหลวงหมายเลข 3022 และ 3467 รวมทั้งคันคลองชลประทานอีกหลายสาย

3. ทางบก ทางรถไฟสายเหนือ ตั้งแต่หัวลำโพง – เชียงใหม่ ผ่านสถานีท่าเรือ ตรงหลัก กม.ที่ 102

อาชีพและเศรษฐกิจ

ด้านการเกษตร ทำนา 60% นอกนั้นประกอบอาชีพอุตสาหกรรม พาณิชย์กรรมและกรรมกร

ด้านอุตสาหกรรม มีโรงงานอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่

โรงงานปูนซิเมนต์, โรงงานผลิตอาหารสัตว์, โรงงานอบพืชไร่, โรงงานแป้งมัน, โรงงานสกัดน้ำมันพืช, โรงงานผลิตข้าวสารถุงส่งออก, โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์, โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออก, โรงงานผลิตน้ำดื่ม, โรงงานผลิตอาหารสัตว์, โรงสีข้าว โรงสีข้าวนึ่ง, โรงงานผลิตแอลกอฮอล์

ด้านศาสนา จำนวนวัดทั้งหมด 41 วัด แบ่งเป็น

- มหานิกาย จำนวน 38 วัด

- ธรรมยุตนิกาย จำนวน 3 วัด

- มัสยิด จำนวน 1 แห่ง

การปกครอง แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 9 ตำบล 75 หมู่บ้าน ดังนี้

1. ตำบลท่าเจ้าสนุก มีหมู่บ้าน 9 หมู่บ้าน

2. ตำบลท่าหลวง มีหมู่บ้าน 5 หมู่บ้าน

3. ตำบลจำปา มีหมู่บ้าน 5 หมู่บ้าน

4. ตำบลบ้านร่อม มีหมู่บ้าน 9 หมู่บ้าน

5. ตำบลศาลาลอย มีหมู่บ้าน 15 หมู่บ้าน

6. ตำบลวังแดง มีหมู่บ้าน 8 หมู่บ้าน

7. ตำบลปากท่า มีหมู่บ้าน 8 หมู่บ้าน

8. ตำบลโพธิ์เอน มีหมู่บ้าน 6 หมู่บ้าน

9. ตำบลหนองขนาก มีหมู่บ้าน 10 หมู่บ้าน

เทศบาลตำบล 2 แห่ง ได้แก่

1. สำนักงานเทศบาลตำบลท่าเรือ

2. สำนักงานเทศบาลตำบลท่าหลวง



คำขวัญอำเภอท่าเรือ

ถิ่นกำเนิดหลวงพ่อโต แดนตะโกดัดงาม เย็นสายน้ำนามป่าสัก วิวสวยนักเขื่อนพระรามหก
copyright 2010 All right reserved

ห้องสมุดประชาชน"เฉลิมราชกุมารี"อำเภอท่าเรือ ถนนเทศบาล2
ต.ท่าเรือ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา 13130

โทรศัพท์ 0-3534-1100

e-mail : tharualib@gmail.com